การพัฒนาการจัดการเรียนรู้ในรูปแบบ "ระบบนิเวศทางการศึกษา ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" มุ่งเน้นการสร้างสมดุลและความยั่งยืนในการพัฒนาผู้เรียน โดยใช้หลักการของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งประกอบด้วย 3 หลักการสำคัญ คือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกัน โดยมีเงื่อนไขของความรู้และคุณธรรมเป็นพื้นฐานในการตัดสินใจและแบ่งพื้นที่ทางการศึกษาตามแนวทฤษฎีใหม่  

หลักการของในการพัฒนาระบบนิเวศทางการศึกษา

หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นหลักปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช บรมนารถบพิตรพระราชทานแก่สังคมไทยตั้งแต่พุทธศักราช 2517 หลักสำคัญของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนั้น เป็นหลักการที่มุ่ง “ความสุข” และ “ประโยชน์สุข” ของประชาชน และสังคม

ความสุข เป็นสภาวะทางจิตใจที่เป็นบวก เป็นผลมาจากทั้งปัจจัยภายนอก คือ สภาพสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และสิ่งแวดล้อม และปัจจัยภายในคือ ระดับสติปัญญา วิธีคิด หลักคุณธรรมจริยธรรม ของบุคคลนั้น ประโยชน์สุข คือสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะและนำมาซึ่งความสุข สงบ และเจริญก้าวหน้าของสังคม

การจะเกิดความสมดุลและพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงในมิติต่างๆ ข้างต้นได้ กระบวนการตัดสินใจควรอยู่บนพื้นฐานของหลักการ 3 ประการและเงื่อนไข 2 ประการ ประกอบด้วย

1.ความมีเหตุผล คือ ในการดำเนินการใด ๆ ต้องมองเห็นทางเลือกที่เกี่ยวข้อง เห็นเหตุและผล และผลกระทบทั้งทางบวกและลบของทางเลือกต่างๆ เห็นผลที่เป็นคุณค่าแท้ของการดำเนินการนั้น ๆ

2. ความพอประมาณ คือ การดำเนินการควรต้องใช้ทรัพยากรและดำเนินการในระดับที่พอดีเหมาะสมกับเงื่อนไขที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายในแบบที่ประหยัดไม่เกิดของเสียโดยไม่จำเป็น

3. มีภูมิคุ้มกัน คือ มีการพิจารณาถึงแผนสำรอง รองรับการเปลี่ยนแปลงที่คาดไม่ถึง

เงื่อนไข 2 ประการ คือ

1.เงื่อนไขความรู้ คือ ต้องมีทั้งองค์ความรู้ในเรื่องที่เกี่ยวข้องและมีสติปัญญาที่จะพิจารณาว่าสิ่งที่เลือกจะนำไปสู่ความสุขและประโยชน์สุขหรือไม่

2.เงื่อนไขคุณธรรม คือ อยู่บนฐานของหลักคุณธรรมและศีลธรรมอันดีของสังคม ไม่ส่งผลกระทบทางลบต่อคนอื่นหรือสิ่งแวดล้อม 

ทฤษฎีใหม่  เป็นพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย ให้สามารถประกอบอาชีพอย่างได้อย่างพอเพียงที่จะเลี้ยงตัวเองได้ในระดับประหยัดเป็นอย่างน้อย ทฤษฎีใหม่ประกอบด้วยหลักการและแนวทางในการบริหารจัดการที่ดินและน้ำขนาดเล็กเพื่อการเกษตรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป็นระบบการผลิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง ยึดหลักการพึ่งตนเองอย่างมีอิสรภาพ มีการวางแผนอย่างเป็นระบบ เป็นขั้นตอน เน้นความสามัคคี การมีส่วนร่วมของชุมชนและสังคม การร่วมมือร่วมใจช่วยเหลือกัน (ทิศนา  แขมมณี 2540 : 1) โดยดำเนินการเป็น 3 ขั้นตอน " คือ
                ขั้นที่ 1  เป็นการจัดแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน ตามอัตราส่วน 30 : 30 : 30 : 10 คือ แบ่งพื้นที่ส่วนที่หนึ่ง 30 % เป็นที่สำหรับขุดสระน้ำไว้ใช้  ส่วนที่ 2 30 % เป็นที่สำหรับทำนาในฤดูฝน เพื่อใช้เป็นอาหารสำหรับเลี้ยงครอบครัว  ส่วนที่สาม 30 % เป็นที่สำหรับปลูกพืชยืนต้น ไม้ผล พืชผัก พืชสมุนไพร เพื่อใช้เป็นอาหาร และจำหน่าย  หากมีเหลือ ส่วนที่สี่ 10 % เป็นที่อยู่อาศัยและเลี้ยงสัตว์ และโรงเรือนอื่น ๆ
                ขั้นที่ 2  เป็นขั้นการพัฒนาเพื่อให้ได้ผลสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ได้แก่ การที่เกษตรกรรวมพลังกันในรูปของกลุ่ม หรือสหกรณ์ในด้านการผลิต การตลาด การเป็นอยู่  สวัสดิการ   การศึกษา  สังคมและศาสนา โดยได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นส่วนราชการ หรือองค์กรเอกชน ตลอดจนสมาชิกในชุมชน
                ขั้นที่ 3  เป็นขั้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น โดยมีการติดต่อประสานงาน เพื่อจัดหาทุนหรือแหล่งเงิน เพื่อมาช่วยในการลงทุนและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้สูงขึ้น


วิธีการดำเนินการให้บรรลุผล

         การพัฒนาการจัดการเรียนรู้  ในรูปแบบ“ระบบนิเวศทางการศึกษา ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” (Learning  Ecosytem According to the philosophy of Sufficiency Economy) เพื่อพัฒนาผู้เรียน  ซึ่งได้นำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการบริหารสถานศึกษาเพื่อพัฒนาผู้เรียนคือ

ความพอประมาณ: การจัดการเรียนรู้ที่ไม่เกินกำลังของผู้เรียนและสังคม รวมถึงการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า

ความมีเหตุผล: การตัดสินใจเลือกใช้วิธีการและเนื้อหาการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับสถานการณ์และความสามารถของผู้เรียน

การมีภูมิคุ้มกัน: การเตรียมพร้อมผู้เรียนให้สามารถปรับตัวและเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีสติ



จากหลักการและแนวทางในการบริหารจัดการที่ดินและน้ำขนาดเล็กเพื่อการเกษตรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป็นระบบการผลิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง ยึดหลักการพึ่งตนเองอย่างมีอิสรภาพ ได้นำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาระบบนิเวศทางการศึกษาโดยมีขั้นตอนดังต่อไปนี้


ขั้นที่ 1  เป็นการจัดแบ่งพื้นที่ทางการศึกษาออกเป็น 4 ส่วนเพื่อมุ่งเน้นในการพัฒนาผู้เรียนดังนี้


 

-กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน 30% เปรียบเสมือน แหล่งกักเก็บน้ำ เพื่อใช้หล่อเลี้ยงส่วนอื่น ๆ ในการดำรงชีวิต

-ความรู้ความถนัดเฉพาะทาง 30% เปรียบเสมือนพื้นที่การทำนา ซึ่งเป็นสิ่งที่ใช้ในการประกอบอาชีพ

-แหล่งเรียนรู้ 30% เปรียบเสมือนการปลูกพืชหมุนเวียนสำหรับเลี้ยงชีพตลอดปี ซึ่งเป็นแหล่งที่ใช้ค้นความหาความรู้ได้ตลอดเวลา

-ความรู้พื้นฐาน 10% เปรียบเสมือนที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตที่ขาดไม่ได้

ขั้นที่ 2  เป็นขั้นการพัฒนาเพื่อให้ได้ผลสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

การสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ส่งเสริมการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับชีวิตจริง และการเรียนรู้

แบบบูรณาการ การเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพในปัจจุบันคือการสร้างผู้เรียนให้เป็น Lifelong Learner คือเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งเป็นเป้าหมายปลายทางของการศึกษาที่สำคัญที่สุด สิ่งที่จะสร้างผู้เรียนให้เป็นผู้รักในการเรียนรู้ได้ คือการสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้เพื่อก่อให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต สร้างนักเรียนให้พร้อมรับมือโลกแห่งการเปลี่ยนแปลง ระบบนิเวศจะเกิดขึ้นได้ต้องเริ่มจาก 3 ขั้นตอนหลักที่จะทำให้เรามีทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต ได้แก่  Learn: การเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ  Unlearn: การไม่ยึดติดกับสิ่งที่เคยเรียนรู้มาก่อน  Relearn: การเรียนรู้ในสิ่งที่เคยเรียนรู้มาแล้วด้วยมุมมองใหม่ ๆ การสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้โดยนำแนวคิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตมาใช้ในแต่ละองค์ประกอบ เพื่อให้รองรับการเรียนรู้ 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ

ได้ดังนี้


1. People (คน) นักเรียนต้องค้นหาแนวทางการเรียนรู้ที่เหมาะกับตนเอง คุณครูสามารถช่วยเหลือนักเรียนได้ โดยการทำแบบประเมินตนเอง ระบุความต้องการการเรียนรู้ และช่วยเหลือในการสรรหาทรัพยากรการเรียนรู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น วิทยากรในการให้คำแนะนำ อุปกรณ์ช่วยเหลือนักเรียนได้ฝึกปฏิบัติ สุดท้ายคือการประเมิน และวัดผลการเรียนรู้ของนักเรียน โดยอาจให้นักเรียนเป็นผู้ประเมินตนเองผ่านความช่วยเหลือของครูก็ได้ 

2. Content (เนื้อหา) เนื้อหาในระบบนิเวศการเรียนรู้นั้นมีตั้งแต่การเรียนรู้เนื้อหาสำคัญจำเป็นที่นักเรียนต้องเรียนรู้ในโรงเรียน แต่สิ่งสำคัญที่จะสร้างผู้เรียนให้เป็น Lifelong Learner ได้คือการเรียนรู้นอกห้องเรียนตามความสนใจที่ไม่จำกัดรูปแบบการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้จากสื่อดูวิดีโอ อ่านบทความ หรือฟังพอดคาสต์ โดยให้นักเรียนระบุเป้าหมายสิ่งที่ต้องการเรียนรู้ให้ชัดเจน 

3. Technology (เทคโนโลยี) ในที่นี้หมายถึงแพลตฟอร์มในการเรียนรู้รูปแบบต่าง ๆ เช่น ระบบสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ (Learning Experience Platform;LXP) คือ การสร้างการเรียนรู้เฉพาะบุคคล ผ่านระบบ Cloud ที่สนับสนุนให้นักเรียนพัฒนาทักษะของตนนอกเหนือไปจากการเรียนในวิชาบังคับ ซึ่งแพลตฟอร์มนี้จะอนุญาตให้ผู้เรียนจัดการเนื้อหาและสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ และยังมีช่องทางการให้คำแนะนำส่วนตัวด้วย ทั้งหมดนี้ผู้เรียนสามารถกำหนดและติดตามเนื้อหาได้เอง ตัวอย่างเช่น LinkedIn Learning แนวคิดของแพลตฟอร์มนี้พัฒนามาจากระบบที่เราใช้ในปัจจุบัน คือ ระบบการจัดการเรียนรู้ (Learning Management System; LMS) ที่อยู่ในรูประบบปิดที่อนุญาตให้ผู้เรียนที่ได้รับสิทธิ์เท่านั้นถึงจะเข้าเรียนได้ 

4. Data (ข้อมูล) ข้อมูลมีความสำคัญต่อการสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ ข้อมูลที่สำคัญคือข้อมูลความต้องการในการเรียนรู้ของนักเรียนไม่ว่าจะเป็นต้องการเรียนรู้เรื่องใด เนื้อหาอะไร ถนัดในการเรียนรู้แพลตฟอร์มไหน หรือคุณครูอาจวิเคราะห์จากพฤติกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียนบนแพลตฟอร์มที่สร้างขึ้น เช่น จำนวนครั้งการเข้าใช้ระบบ จำนวนหัวข้อที่เลือกศึกษา ฯลฯ เมื่อคุณครูมีข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้เห็นภาพกว้างและภาพเชิงลึกของการเรียนรู้ของนักเรียนแต่ละคนที่ชัดขึ้น นำมาสู่การพัฒนาและออกแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับนักเรียนในที่สุด 

5. Governance (การกำกับดูแล) การกำกับดูแล คือ การร่วมกันปรับปรุงองค์ประกอบต่างๆ ของระบบนิเวศการเรียนรู้ โดยคุณครูและนักเรียนต้องหมั่นให้ผลป้อนกลับ (Feedback) เกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ทั้งเรื่อง คน เนื้อหา เทคโนโลยี และข้อมูล ใน 4 ข้อข้างต้น เช่น นักเรียนมีปัญหาในเรื่องขาดอุปกรณ์ในการเรียนรู้ ยังไม่มีเนื้อหาการเรียนรู้ที่สนใจ เทคโนโลยีมีปัญหาในการเลือกแพลตฟอร์มในการเรียนรู้ นอกห้องเรียนมากมายให้นักเรียนได้เรียนรู้ มีทั้งแบบมีค่าใช้จ่ายและใช้ได้ฟรี คอร์สระยะสั้นและคอร์สระยะยาว คุณครูสามารถให้คำแนะนำในการเลือกแพลตฟอร์มที่เหมาะสมให้กับนักเรียน และกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียนวิเคราะห์ออกมาแล้วว่ายังไม่บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ในส่วนนี้คุณครูสามารถให้ความช่วยเหลือ แก้ไข และปรับปรุงตามความเหมาะสม 

ขั้นที่ 3  เป็นขั้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น

การพัฒนาองค์ความรู้และทักษะ: เน้นการเรียนรู้แบบพึ่งพาตนเอง และการพัฒนาทักษะชีวิตที่ยั่งยืน

การประยุกต์ใช้คุณธรรมและจริยธรรม: ส่งเสริมคุณธรรมในกระบวนการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนมีความมั่นคงในตนเองและสามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข